แม้ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงการฟังเพลงได้แสนง่ายดาย ไม่ว่าจะบนมิวสิกสตรีมมิ่ง อย่าง Spotify, YouTube, Pandora หรือ Joox ถึงอย่างนั้น เสน่ห์อันน่าหลงใหลของเสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง และการได้บรรจงหยิบจับแผ่นเสียง วางลงบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพื่อเปิดฟังเพลงที่ชอบ ก็ยังคงสร้างอารมณ์ในการฟังเพลงที่ต่างออกไปในแบบที่หาไม่ได้จากการฟังเพลงผ่านช่องทางอื่น ๆ
ความสุนทรีย์สุดคลาสสิกของเครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิลนั้น เริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อแผ่นเสียงที่มีภาพศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์แปะอยู่บนปก ยิ่งเป็นศิลปินในดวงใจยิ่งให้คุณค่าทางจิตใจ แถมเมื่อนำไปเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้ว เสียงเพลงที่ดังกังวาลออกมานั้น ยังแตกต่างกันไปตามเครื่องแต่ละรุ่นอีกด้วย
บทความนี้เราจึงอยากชวนมือใหม่ทุกคนมาเรียนรู้วิธีเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียง ฉบับอัปเดต 2023 บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด!
4 สเต็ปเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้โดนใจและสบายกระเป๋า
น้องใหม่ในวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียงคงสงสัยว่ามีวิธีการเลือกเครื่องเล่นอย่างไรและต้องเตรียมงบเท่าไร?
ปัจจุบันเครื่องเล่นแผ่นเสียง ราคาเริ่มต้นเพียงหลักพันเท่านั้น และแน่นอนว่ามีกระทั่งหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ซึ่งคุณภาพของเสียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเครื่องเล่นเพียงอย่างเดียว แต่มีอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ให้ได้อัปเกรดอีกมากมาย เช่น หัวเข็ม โทนอาร์ม เครื่องขยายเสียง (Amplifier) และลำโพง เป็นต้น แล้วมือใหม่ควรเริ่มต้นเลือกอย่างไร มาดูกันเลย
- ศึกษาเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
แน่นอนว่าก่อนจะซื้อของสักชิ้น การศึกษาทำความรู้จักฟังก์ชันและส่วนประกอบให้ดีก่อนนั้นสำคัญอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง คลาสสิก ที่มีองค์ประกอบที่ต้องรู้จัก ดังนี้
- องค์ประกอบพื้นฐานของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
- แพลตเตอร์ (Platter)
‘แพลตเตอร์’ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นจานรองแผ่นเสียงนั่นเอง มีรูปร่างกลมแบน ทำมาจากวัสดุที่หลากหลาย มีทั้งโลหะและอโลหะ อย่าง อะลูมิเนียม ทองเหลือง เหล็ก อะคริลิก กระจก
ยิ่งแพลตเตอร์ที่มีราคาสูง วัสดุที่นำมาใช้ยิ่งมีความซับซ้อนและสวยงาม โดยการทำงานของแพลตเตอร์จะหมุนตามเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วรอบต่อนาทีตามที่เลือก เช่น 33 ⅓ RPM หรือ 45 RPM
- โทนอาร์ม (Tonearm)
‘โทนอาร์ม’ คือ ส่วนที่ตั้งหัวเข็ม มีลักษณะเป็นท่อและมีหน้าที่เคลื่อนหัวเข็มให้ไปตามร่องแผ่นเสียง และภายในมีช่องว่างเพื่อร้อยสายสัญญาณไปที่ขั้วของเอาต์พุต
- ก้านยกโทนอาร์ม (Cueing Lever)
‘ก้านยกโทนอาร์ม’ เป็นส่วนช่วยยกหรือปล่อยโทนอาร์ม แทนการใช้นิ้วมือสัมผัสโดยตรง จึงลดโอกาสการสร้างความเสียหายต่อหัวเข็มและตัวแผ่นเสียงได้
- ก้านมอเตอร์ (Motor Pulley)
‘ก้านมอเตอร์’ เป็นแกนโลหะที่ต่อออกมาจากมอเตอร์ มีลักษณะการทำงานแตกต่างตามชนิดของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ดังนี้
- Direct Drive
ประเภทเครื่องเล่นชนิด Direct Drive ประกอบด้วยมอเตอร์ใต้แพลตเตอร์ และมีก้านชี้ออกมาตรงจุดศูนย์กลางใช้ในการหมุนแผ่นเสียง
- Belt Drive
ประเภทเครื่องเล่นชนิดBelt Drive จะมีมอเตอร์อยู่นอกแกนแพลตเตอร์ ส่วนก้านหมุนจะมีสายพานคล้องซึ่งเป็นส่วนดึงให้แพลตเตอร์หมุน
- หัวเข็ม เครื่องเล่นแผ่นเสียง (Cartridge)
‘หัวเข็ม เครื่องเล่นแผ่นเสียง’ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญซึ่งทำหน้าที่เคลื่อนไปตามร่องแผ่นเสียงเพื่อทำให้เกิดเสียง โดยภายในหัวเข็มมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น แท่งแม่เหล็ก ลวดทองแดง ก้านและปลายเข็ม
- ปุ่มเลือกสปีด (Speed Selection)
‘ปุ่มเลือกสปีด’ เป็นปุ่มเลือกความเร็วรอบหมุนของแพลตเตอร์ อาจมาในรูปของก้านโยกก็ได้
- 3 ประเภทหลักของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
- ประเภทเล่นแผ่นเสียงอัตโนมัติ (Full-automatic)
เหมาะกับมือใหม่อย่างยิ่ง เพราะเพียงกดปุ่มเล่น แผ่นเสียงก็จะบรรเลงเพลงแบบอัตโนมัติ
- ประเภทเล่นแผ่นเสียงกึ่งอัตโนมัติ (Semi-automatic)
ผู้ใช้อาจต้องลงมือเองบางขั้นตอน เช่น การวางโทนอาร์มมาวางตรงร่องแผ่นเสียงเมื่อเริ่มและจบเพลง กลไกอาจช่วยเพียงการหยุดและการยกเข็มขึ้นเมื่อเล่นจนจบร่องเสียงสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ยากเกินไปสำหรับมือใหม่
- ประเภทเล่นแผ่นเสียงแมนนวล (Manual)
ที่คุณต้องลงมือเองทั้งหมด นับตั้งแต่การเปิดเครื่องให้แพลตเตอร์หมุน และวางโทนอาร์ม แม้จะฟังดูซับซ้อนมากที่สุด แต่รับรองว่าให้คุณภาพเสียงที่น่าพึงพอใจแน่นอนแถมเพิ่มการมีส่วนร่วมในการฟังเพลงได้อย่างมีเอกลักษณ์
2. กำหนดงบประมาณ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้การเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงง่ายขึ้นก็คือ งบประมาณ ซึ่งเราได้คัดสรรแบรนด์ยอดนิยมที่ราคาถูกไปจนถึงราคาสูงมาแนะนำ ตัวไหนจะน่าจับตามองบ้าง มาเช็กกันเลย
- แบรนด์แนะนำสำหรับมือใหม่งบน้อย
ภาพจาก gadhouse.com
ใครงบน้อยและอยากลองเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาย่อมเยา ต้องจับตามองแบรนด์ Gadhouse Brad แบรนด์ของคนไทยที่มีชื่อเสียงในหลายประเทศ ราคาเริ่มต้นที่ 4,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น ไฮไลต์คือตัวลำโพงแบบ Stereo Dynamic Full Range หัวเข็มแบบพิเศษ และการปรับสปีดได้ 3 ระดับ
ภาพจาก crosleyradio.com
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เนื้อหอมอย่าง Crosley ที่เหมาะกับคนชอบความสะดวกสบาย เพราะเปิดเครื่องก็เล่นได้อัตโนมัติเลย สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000บาท แต่แนะนำให้ต่อลำโพงเพื่อเสียงที่มีคุณภาพมากขึ้น
- แบรนด์แนะนำสำหรับมือใหม่ใจป้ำ
รุ่นไฮเอนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้ คือ Vertere DG-1S เป็นรุ่นอัปเกรดจากตัวที่ได้รับรางวัลแห่งปี 2021 สามารถใช้งานได้ง่าย ดีไซน์สวยงามและระบบเสียงที่ทรงพลัง สมูธ นอยซ์ต่ำ ด้วยโทนอาร์มแบบแฟลตห้าชั้น
ปัจจุบันราคาประมาณ 130,000 บาท ส่วนรุ่นพรีเมียมรองลงมาอย่าง Planar 6/Ania ก็ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพเสียงไม่น้อย โดยราคาอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท
3. เลือกจากสไตล์รูปลักษณ์หรือเสียงที่ชอบ
เมื่อกำหนดงบประมาณแล้ว ก็ถึงเวลารีเสิร์ชเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สบายกระเป๋า โดยรูปลักษณ์ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงมีหลากหลายมาก เช่น สไตล์เรโทร วินเทจ มินิมอล และโมเดิร์น
ส่วนเรื่องเสียงของเครื่องเล่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา บางคนชอบมวลเสียงกว้าง บางคนชอบเสียงนอยซ์ หรือบางคนอาจจะชอบเสียงธรรมชาติของเครื่องดนตรี
ดังนั้น เครื่องเล่นแผ่นเสียงบางตัวอาจจะไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ที่สุด แต่สามารถให้ความสุนทรีย์กับคุณได้มากที่สุด
4. คุณภาพหัวเข็ม
‘หัวเข็ม’ เปรียบเสมือนส่วนสมองของเครื่องเล่นแผ่นเสียง หากหัวเข็มดีก็จะให้เสียงที่ดีและมีความถูกต้องแม่นยำ โดยหัวเข็มสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทหลัก ดังนี้
- MM : Magnetic / Moving Magnet
หัวเข็มประเภทนี้พบได้ทั่วไปในปัจจุบัน ราคาถูก แถมใช้เล่นเพลงได้หลายแนว
- MC : Moving Coil
MC มีราคาแพงและบอบบางมากกว่า เหมาะกับการฟังเพลงคลาสสิก วงออร์เคสตา หรือเพลงที่มีความซับซ้อน ความละเอียดของเครื่องดนตรี
- Ceramic
หัวเข็มชนิดนี้มักพบในเครื่องเล่นแผ่นเสียงวินเทจ หรือแบบ Suitcase ให้เสียงเบสชัด ๆ ราคาไม่แพง แต่อาจไม่ค่อยเหมาะกับดนตรีสมัยใหม่ที่มีรายละเอียดเยอะ
- Capacitance
หัวเข็มนี้มีอีกชื่อเรียกว่า FM Cartridge ซึ่งได้รับความนิยมในยุค 50’ s สามารถใช้งานได้หลากหลายมาก
เครื่องเล่นแผ่นเสียง เลือกให้ตรงสไตล์ได้ไม่ยาก
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับวิธีเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียง 4 ขั้นตอนที่เรานำมาฝากในบทความนี้ นับตั้งแต่การทำความรู้จักองค์ประกอบ ประเภทของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ไปจนถึงการกำหนดงบประมาณและการเลือกรูปลักษณ์ ย่านเสียง และหัวเข็ม เรียกได้ว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงมีเสน่ห์เฉพาะตัวและความน่าสนใจไม่น้อย
อย่างไรก็ตามหากคุณอยากครอบครองสักเครื่อง สามารถปักหมุดไปที่ 📍ร้าน Hall of Fame Records (HOF-Records) ชั้น 3 Fortune Town แหล่งรวมเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลากหลายราคาและมีแผ่นเสียงหลากหลายแนวให้เลือกฟังกัน จะเพลงเก่าระดับตำนานหรือเพลงใหม่ล่าสุดก็มีให้สะสมเพียบ ขอกระซิบบอกเลยว่าหน้าปกของแต่ละวงน่าสะสมสุด ๆ
ส่วนใครอยากได้คำแนะนำเรื่องเครื่องเล่นแผ่นเพลงสุดคลาสสิกนี้ คุณกฤษณ์ เจ้าของร้านก็ยินดีให้คำแนะนำสามารถเข้ามาพูดคุย เลือกซื้อ หรือสัมผัสกับบรรยากาศของร้านที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอเสียงเพลงในวันวานแห่งนี้กันเลย
📍ฟอร์จูนทาวน์: เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 น. – 22.00 น.
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง: